การพิทักษ์รับรอง และคุ้มครองทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นจะมีกฎหมาย 3 เรื่องที่เกี่ยวข้อง คือ

  • กฎหมายว่าด้วยการห้ามการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ
  • ร่างกฎหมายสมรสที่เท่าเทียม (กฎหมายแต่งงาน)
  • ร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ

โดยในปัจจุบัน กฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว และส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีเพียงฉบับเดียว คือ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยมาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทํา หรือไม่กระทําการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกันหรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด แต่กฎหมายนี้ก็ยังไม่ได้ให้สิทธิในการสมรส และการเลือกใช้อัตลักษณ์ที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งในประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความเป็นธรรมทางเพศ สิทธิทางเพศ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายสมรสที่เท่าเทียม และร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพให้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรับรองทางกฎหมายในการใช้ชีวิต ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพของคนกลุ่มนี้

 

 

ที่มา: คนข้ามเพศในบริบทของสังคม กฎหมาย และวัฒนธรรมไทย (Social, Legal and Cultural Perspectives on Transgender People in Thailand) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)